รีวิวซีรีส์ Sneakerheads หยิกกัดคนบ้าสนีกเกอร์ได้เจ็บแสบ แต่ขอบอกว่าเรื่องจริงทั้งนั้น!

Sneakerheads พลพรรคคนรักสนีกเกอร์ ซีรีส์ Netflix ที่เจาะกลุ่มคนเล่นสนีกเกอร์มาไว้ในเรื่องแบบฮาๆ หยิกกัดหลายอย่างได้เจ็บแสบ แต่ก็เรื่องจริงทั้งนั้น!

ซีรีส์บ้อบอคอแตกที่หยิบเรื่องราวของกลุ่มคนรักรองเท้าสนีกเกอร์มาทำเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยผูกเรื่องเข้ากับหนุ่มสนีกเกอร์เฮดที่ลาวงการมีครอบครัวไปแล้ว เมียก็ห้ามซื้อรองเท้า แต่กลับได้มาเจอเพื่อนเก่าที่บ้าสนีกเกอร์ด้วยกัน และชวนให้ไปตามล่ารองเท้าในตำนานที่เหมือนไม่มีอยู่จริง แต่ถ้าค้นพบมันได้ก็รวยเละเทะ

รีวิวซีรีส์ Sneakerheads หยิกกัดคนบ้าสนีกเกอร์ได้เจ็บแสบ แต่ขอบอกว่าเรื่องจริงทั้งนั้น! 1

ต้องเกริ่นก่อนว่าเรื่องนี้ทำมาเพื่อคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจหรือรู้จักสนีกเกอร์โดยตรง รวมถึงอาจจะเข้าขั้นคลั่งไคล้ หรือเจาะลึกไปอีกก็ตามชื่อเรื่องสนีกเกอร์เฮด ที่หมายถึงแฟนตัวจริงที่รู้เรื่องรองเท้าประเภทนี้โดยละเอียด ซึ่งในบ้านเราก็มีกลุ่มแบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าใครตามข่าวเรื่องการต่อคิวซื้อรองเท้าจนร้านต้องปิดหนีในไทย (เพราะแฟนไม่พอใจที่โควต้าน้อยไม่พอ) ก็อาจจะนึกไม่ถึงว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นกันทั่วโลก ที่อเมริกาเป็นต้นตำหรับความบ้านี้มาก่อนไทยด้วย ซีรีส์เรื่องนี้แหละจะทำให้คุณรู้จักเข้าถึงความบ้าของจริงที่หยิบมาเอาใส่ในหนังได้แบบเนียนๆ เหมือนเว่อร์ แต่มุก 90% ในเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงล้วนๆ ที่อาจจะดูบ้าในสายตาคนภายนอก แต่สำหรับคนดูที่ชอบสนีกเกอร์อยู่แล้วนี่บันเทิงมาก เหมือนโดนหยิกจิกกัดเอาความจริงมาเล่นแบบฮาๆ หน้าตาย ซึ่งอาจจะตายจริงด้วยถ้าคนในครอบครัวรู้ว่าหมดตังไปแค่ไหนกับแค่รองเท้าใส่เล่นเท่านั้น (ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ด้วย ซื้อมาเก็บ)

ตัวเรื่องหยิบเอาเรื่องง่ายๆ ของคนมีครอบครัวแล้วที่โดนเมียห้ามสะสมของฟุ่มเฟือย แต่ด้วยใจรักพระเอก “เดวิน” จึงแอบไปร้านรองเท้าจนได้ แล้วก็พบกับซี้เก่าที่ตอนแรกแค่ชวนมาตามล่าหาสนีกเกอร์ดังๆ มาขายทำกำไร แต่แล้วก็กลายเป็นผิดแผนสารพัด ซึ่งช่วงที่ผิดแผนนี่แหละคือเรื่องจริงในวงการนี้อย่างหนึ่ง เมื่อรองเท้าเกิดการซื้อไปเพื่อเก็งกำไร ก็เลยกลายเป็นช่องทางทั้งปั่นทั้งหลอกหลวงจนคนที่เล่นสนีกเกอร์จริงต้องเคยพลาดขาดทุนกำไรกับสนีกเกอร์ไปบ้างแน่นอน

รีวิวซีรีส์ Sneakerheads หยิกกัดคนบ้าสนีกเกอร์ได้เจ็บแสบ แต่ขอบอกว่าเรื่องจริงทั้งนั้น! 2

เมื่อเรื่องเดินมาตอนสอง ซึ่งแต่ละตอนของเรื่องนี้ก็สั้นๆ แค่ 20 นาทีเท่านั้น จึงเข้าเรื่องรองเท้าในตำนาน “ไนกี้ ซีโร่” ที่มีแต่คำร่ำลือ ไม่เคยมีใครได้ครอบครองจริง เรื่องก็พาตัวเอกให้มีทีมตามล่า ซึ่งก็ประกอบไปด้วยแม่ค้าสาววัยรุ่นที่หาสนีกเกอร์มาขาย นักขายการ์ตูนที่ผันตัวมาเล่นตลาดสนีกเกอร์ กับเพื่อนซี้จอมพูดมาก (นักแสดงผิวดำสายฮาคนเดียวกับที่เล่นเรื่อง Babysitter ) ก็กลายเป็นผจญภัยแบบบ้าบอคอแตกหน่อยๆ อย่างการตามหาคำใบ้ที่ต้องไปดวลเทนนิสกับมาร์ค วอล์ลเบิร์ก นักแสดงดัง การแย่งรองเท้าจากเสือ ไปจนถึงบินไปฮ่องกงเพื่อตามล่ารองท้าคู่นี้ให้ได้ ซึ่งเรื่องบ้อบอพวกนี้อาจจะใส่มาล้นเลอะเทอะเกินไปสักหน่อย แต่ก็มีส่วนผสมของมุกสนีกเกอร์จริงๆ รวมเข้ามาด้วย อย่างรองเท้าใส่แล้วจะขายได้ไหม รองเท้าเปื้อนต้องซ่อมแซมยังไง ซึ่งเกร็ดเล้กน้อยพวกนี้ต้องเป็นคนเล่นสนีกเกอร์สักหน่อยถึงจะอินขำๆ ตลกไปกับเรื่องราวเหล่านี้ได้

รีวิวซีรีส์ Sneakerheads หยิกกัดคนบ้าสนีกเกอร์ได้เจ็บแสบ แต่ขอบอกว่าเรื่องจริงทั้งนั้น! 3

ถึงตัวเรื่องจะดูบ้าบอมากๆ แต่แก่นของเรื่องเกี่ยวกับคนที่หลงไหลสะสมของต่างๆ ก็มีใส่ไว้ครบถ้วนทั้งในมุมมองของเมียพระเอกที่ไม่เข้าใจว่าทำไมสามีถึงบ้าขนาดนี้ ซึ่งเรื่องราวจะปนดราม่าบ้านแตกเข้ามาเป็นประเด็นให้เมียของพระเอกได้ค้นพบว่า จริงๆ แล้วรองเท้าที่พระเอกบ้าตัดไม่ขาดเหล่านี้ ลึกๆ มันมีเรื่องราวกินใจและความน่าหลงไหลอยู่จริงๆ ซึ่งไม่ใช่แค่รองเท้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกอย่างที่มีกลุ่มคนชอบสะสม ซึ่งตอนจบของเรื่องก็แอบเล่นมุกสากลเรื่องของสะสมของผู้ชายกับผู้หญิงที่ต่างกันได้อย่างฮาๆ ซึ่งผู้ชายเองก็ไม่เข้าใจผู้หญิงเหมือนกันว่าอะไรกันนักหนากับกระเป๋า รองเท้า พวกนี้มีไปทำอะไรเยอะแยะ 🙂

ตัวเรื่องเหมาะสำหรับคนเล่นสนีกเกอร์มาบ้างแล้วถึงเข้าใจ (ผู้เขียนมีอยู่ 3 คู่เหมือนกันแต่เบรคไว้แค่นี้) และสนุกไปกับมุกตลกในเรื่องที่หยิบของจริงมาล้อเลียนตรงๆ แต่ถ้าไม่ใช่กลุ่มคนเล่นสนีกเกอร์ควรผ่านไปเลยดีกว่า เพราะตัวเรื่องออกแนวเลอะเทอะจนเกินพอดีกับผู้ชมทั่วไปมากเหมือนกันครับ


ดูหนังใหม่ Netflix

รีวิวซีรีส์ Sneakerheads หยิกกัดคนบ้าสนีกเกอร์ได้เจ็บแสบ แต่ขอบอกว่าเรื่องจริงทั้งนั้น!

รีวิวซีรี่ส์ฝรั่ง

รีวิวซีรีส์Away

Away เป็นซีรีส์น่าตื่นเต้นและสะเทือนอารมณ์ในระดับมหากาพย์ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าอันเหลือเชื่อ และการเสียสละส่วนตัวที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน

นี่คือคำโปรยจาก Netflix สำหรับ ‘Away: ด้วยรักจากขอบฟ้า’ Netflix Original Series จากผู้อำนวยการสร้าง Jason Katims เขียนบทโดย Andrew Hinderaker ที่เพิ่งฉายให้รับชมกันไปเมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา แม้ทริลเลอร์ คำโปรย รวมถึงชื่อภาษาไทยจะใบ้ให้เรารู้แล้วว่า ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะเน้นหนักไปทางด้านเร้าอารมณ์ สร้างดราม่า มากกว่าจะเป็นการผจญภัยในอวกาศ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เรื่องราวของความห่างไกล เริ่มต้นด้วยการเดินทางจากโลกของนักบินอวกาศ 5 คน 5 สัญชาติที่ต่างมีพื้นเพ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยมี Emma Green (รับบทโดย Hilary Swank) นักบินอวกาศหญิงของสหรัฐฯ ผู้ต้องรับศึกหนักทั้งในบทบาทหัวหน้าผู้ควบคุมทีม ภรรยาและแม่ เธอจำต้องห่างไกลกับสามี Matt Logan (Josh Charles) และลูกสาววัยรุ่น Alexis Logan (Talitha Bateman) ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการเธอมากที่สุด เพื่อภารกิจพิชิตดาวอังคารที่ใช้เวลายาวนานถึง 3 ปี

การดำรงชีวิตในยานอวกาศ ทำให้ลูกเรือแต่ละคนต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากระบบและความขัดข้องภายในยาน ปัญหาสุขภาพส่วนตัว ตลอดจนสภาวะทางจิตใจอันเนื่องมาจากการ ‘อยู่ห่าง’ จากผู้คนที่คุ้นเคย ส่งผลให้เรื่องราวเข้มข้น ทวีความตึงเครียด และชวนลุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซีรีส์อวกาศดูไม่ยาก แต่ก็ใช่ว่าสมจริงไปทั้งหมด

ด้วยประเภทของซีรีส์ที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ Sci-fi Drama ทำให้เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ที่จะพูดถึงความเป็นอวกาศและวิทยาศาสตร์ในหนัง แค่เพียงชอตแรกก็ทำเอาเราแทบช็อก เพราะนางเอกผู้กำลังเดินเพลิดเพลินชมความงามอันน่าทึ่งบนดวงจันทร์ โดยมีภาพโลกอันห่างไกลนั้น หันหน้าด้านข้างรับแสงจากดวงอาทิตย์ แต่ดันเปิดแถบป้องกันรังสีให้เห็นหน้าชัด ๆ ผ่านหมวกอวกาศใสซะนี่ แม้ภาพที่ได้จะสวยจับใจ แต่นั่นมันอันตรายมากนะเธอออ

ชอตเปิดแถบป้องกันรังสีขึ้น ให้เห็นใบหน้าของนักแสดงภายในเรื่อง

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอย่างอื่น เช่น สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงที่จะหายไปทันทีเมื่อเข้าไปอยู่ห้องพักส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งจุดนี้ก็ไม่แน่ใจนักว่า เทคโนโลยีในยุคที่ส่งมนุษย์เดินทางไปดาวอังคารได้แบบในซีรีส์ (ซึ่งน่าจะอีกหลายปีมาก ๆ เพราะทรัมป์ประกาศว่าจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในปี 2028 แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มของการสร้างฐานบนดวงจันทร์เพื่อไปดาวอังคารเท่านั้นเอง) จะทำให้เกิดพื้นที่ที่มีแรงโน้มถ่วงเฉพาะส่วนได้หรือไม่ ทั้งพื้นที่ใช้สอยภายในยานก็กว้างขวางเกินคาด ระยะดีเลย์ของภาพและเสียงในช่องทางสื่อสารกับโลกก็แทบไม่มี (แต่บทจะมีก็ดันห่างทีครึ่งชม. เฉย) แล้วยังการประดับตกแต่งในยานช่วงคริสต์มาสอีก แต่ถ้าคิดในมุมกลับ ถ้าต้องมานั่งปั้นหน้าดราม่าในสภาพผมชี้ในห้องสุดแคบ แถมคนที่คุยกันยังตอบกลับช้ามาก ๆ ความสวยงามของภาพ ความซาบซึ้ง และความหน่วงในอารมณ์คงหนีหายไปหมด ในแง่ของความบันเทิง พวกรายละเอียดเหล่านี้ก็คงต้องหยวน ๆ ไปสินะ

แม้จะบ่นไปเยอะ หากดูในภาพรวมก็ต้องยอมรับว่า โปรดักชั่นดีและภาพสวย แถมผู้สร้างยังทำการบ้านมาไม่น้อยเลย เพราะสามารถนำเอาข้อเท็จจริงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการ ‘ใช้ชีวิตในอวกาศแบบ Daily life’ อาทิ สภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมลงเพราะสภาวะไร้น้ำหนัก ระบบยังชีพขัดข้อง มาใช้ประโยชน์ ช่วยดึงดราม่าและถ่ายทอดออกมาได้ไม่เลวเลย (และคาดว่าในซีซันหน้า น่าจะใช้ปัญหาประเภทที่เกี่ยวกับการสำรวจ หรือการทำงานของยาน ที่ใหญ่และยากมากขึ้น และนั่นก็น่าจะทำให้เนื้อเรื่องระทึกขึ้นไปอีกระดับด้วย)

ช่วงเวลาพักผ่อนของนักบินอวกาศอันเป็นหนึ่งในกิจวัตรบนยานอวกาศ
Credit: DIYAH PERA/NETFLIX © 2020

ทั้งบทพูด งานภาพและเสียงประกอบ ก็ช่วยเล่าปัญหาทางเทคนิคและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่าย เห็นภาพและรู้สึกตามได้ชัดมาก แม้ผู้ชมจะไม่มีพื้นความรู้หรือจดจ่อโฟกัสมากนักก็สามารถเข้าใจได้ แถมยังช่วยเสริมให้เกิดความ ‘อิน’ ไปกับสิ่งที่ตัวละครแต่ละตัวต้องเผชิญอีก เรียกได้ว่า ใช้อวกาศเป็นฉากหลังหรือส่วนเสริมใช้สร้างสถานการณ์ให้เรื่อง เพื่อดึงเอาความเป็น ‘มนุษย์’ ออกมาได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว

ยิ่งห่างไกลยิ่งมากด้วยความเป็นมนุษย์

มาที่เนื้อเรื่องกันบ้าง การให้คน 5 คน ภูมิหลังต่างกัน ทั้งยังมีภาระหน้าที่ที่ต่างฝ่ายต่างแบกรับไว้ในฐานะตัวแทนของประเทศ ต้องมาอยู่รวมกันแบบหนีไปไหนกันไม่ได้ แถมยังต้องไกลห่างจากคนที่รักก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่เลวเลย เพียงแต่ว่ามันดันมาอยู่ในภารกิจยิ่งใหญ่ระดับมวลมนุษยชาติซะนี่ แค่เปิดประเด็นมา ก็มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองมากมาย เลยดูเหลือเชื่อมากไปหน่อยที่จะรวมชาติมหาอำนาจเหล่านี้ให้มาอยู่ในภารกิจขององค์กรอวกาศนาซาของสหรัฐฯ ได้ตั้งแต่ต้น

นักอวกาศทั้ง 5 ที่ต้องทำภารกิจพิชิตดาวอังคารภายในเรื่อง

แม้จะดูไม่เข้าทีอยู่บ้าง แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ จะพบว่าจุดนี้เองที่เป็นส่วนที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้สนุกและชวนติดตาม ลักษณะนิสัยและปมของตัวละครที่เกิดจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงการใช้ภาษาแม่ในการเดินเรื่อง ก็ช่วยให้ซีรีส์ดูเป็นธรรมชาติ สมจริง ไหลลื่นพอควร แต่ก็น่าคิดว่ามันสะท้อนภาพลักษณ์ของแต่ละประเทศในเวทีโลกผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนได้เป๊ะขนาดนี้เชียวหรือ

ทว่า เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ ยิ่งห่างไกลจากโลกเท่าใด มันก็ยิ่งช่วยกะเทาะเปลือกของความเป็นชาติได้มากเท่านั้น และนั่นก็ช่วยให้ผู้ชมลงไปลึกถึงแก่นของ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่เหนือกว่าการแบ่งแยกด้วยชนชาติได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเสริมด้วยจังหวะการเล่าที่ไม่เร่งรีบ ทิ้งระยะให้เกิดความนิ่งคิดทบทวน ก็ชวนให้คนดูอินตามเนื้อเรื่องไปได้ไม่ยากเลย แต่จุดนี้ก็อาจจะไม่ถูกจริตกับผู้ชมสายใจร้อนอยู่บ้างเหมือนกัน

และแม้จะมีความนิ่งเป็นฐาน แต่ก็ใช่ว่าซีรีส์จะน่าเบื่อและต้องทนดูด้วยความอึดอัดตลอดเรื่อง การขมวดปมปัญหาที่ตีขนาบทั้งปัญหาเชิงเทคนิคในยานที่ทำให้ตัวละครต้องเทคแอคชั่นอย่างรวดเร็ว และสภาวะจิตใจของคนบนโลกที่ส่งผลต่อคนยานหรือในทางกลับกัน ก็ทำให้คนดูลุ้นตามต่อไปได้เรื่อย ๆ และอินไปกับความเสียสละเพื่อมวลมนุษยชาติอย่างที่ได้เปิดโปรยไว้ จนจบซีซั่นได้แบบงง ๆ ได้อยู่เหมือนกัน

หากจะให้เทียบมูดแอนด์โทน ซีรีส์เรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายแบบภาพยนตร์เรื่อง Contact ที่พยายามจะเชื่อมโยงเล่าเรื่องเทคโนโลยีให้เข้าใจง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ ความเชื่อ และปรัชญาเข้าไปด้วย แต่ต่างกันตรงที่ซีรีส์ไม่ได้อารมณ์เคว้งคว้างค้นหาตัวเองได้ขนาดนั้น โทนของเรื่องเน้นหนักที่ความเป็นดราม่า และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแบบเดียวกับ Gravity หรือ First man มากกว่า แถมแซมด้วยการเอาตัวรอด ลุ้นระทึกนิดๆ แบบ The Martian อีกเล็กน้อย ให้ดูแล้วไม่อึดอัดจนเกินไป

ชอตถ่ายภาพร่วมกันในซีรีส์ที่ให้อารมณ์อึน ๆ พอได้ที่ เจือความรู้สึกแบบภาพยนตร์ Gravity หรือ First man หน่อย ๆ

ดังนั้น ใครที่ว่าจะดูเรื่องนี้เพื่อความลุ้นแบบตื่นเต้นตลอดเวลา ไม่อยากเจอความนิ่งเนิบและอึดอัดเลย หรือถูกใจในขนบแบบไซไฟอวกาศแนวผจญภัย เราแนะนำว่าให้มองข้ามซีรีส์เรื่องนี้ไปเถอะ แต่ถ้าคุณมองหาซีรีส์เกี่ยวกับอวกาศที่เข้าใจง่าย มีประเด็นน่าสนใจที่มากกว่าการเอาตัวรอดในอวกาศ มีความซาบซึ้ง ดูสนุกแบบเรื่อย ๆ และพอลุ้นระทึกได้บ้าง หรือในทางกลับกันคือ อยากจะดูซีรีส์ดราม่าเรียกน้ำตาสักเรื่องที่มีฉากเป็นอวกาศสวย ๆ ซีรีส์เรื่องนี้ก็ตอบโจทย์นั้นได้อยู่