รีวิว Julie And The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน

หลังจากกำกับหนังทางโทรทัศน์ให้กับค่ายดิสนี่ย์ พิคเจอร์สมานานจนเรียกว่าเป็นขาประจำของหนังทางช่องดิสนี่ย์ชาแนล ผู้กำกับ เคนนี่ ออร์เตก้า ก็ได้สร้างผลงานกับทางเน็ตฟลิกซ์บ้างในการรีเมคซีรี่ส์โทรทัศน์จากประเทศบราซิลในชื่อเดียวกันนั่นคือ Julie and The Phantoms เมื่อปี 2011 (หรือในภาษาเดิม Julie e os Fantasmas) และดูเหมือนนี่จะเป็นงานโชว์ศักยภาพของเขาอีกครั้ง

ออร์เตก้าผู้กำกับวัย 70 ปีเติบโตมาในสายละครเพลง และการออกแบบท่าเต้นมากมายเขามีส่วนในงานออกแบบท่าเต้นของหนัง และมิวสิควิดีโอยุค 70-80s อย่างไรก็ตามเมื่อได้โอกาสกำกับหนังสองเรื่องในยุค 90s นั่นคือ Newsies(1992) และ Hocus Pocus(1993) กลับได้ผลตอบรับที่ได้มีทั้งคำวิจารณ์และรายได้(แม้ในเวลาต่อมา Hocus Pocus จะกลายเป็นหนังคัลท์คลาสสิคของยุคนั้น) ทำให้เขาหันเหไปในงานออกแบบท่าเต้นอีกครั้ง แต่ก็นับเป็นการฝึกปรือที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นการดูแลงานให้กับคอนเสิร์ตของราชาเพลงป๊อปอย่าง ไมเคิล แจ๊คสัน นานกว่าสิบปี รวมถึงหันไปกำกับซีรี่ส์โทรทัศน์หลายเรื่อง

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 1

Julie e os Fantasmas ต้นฉบับจากบราซิล

เขากลับทำงานกำกับและออกแบบท่าเต้นร่วมกันอีกครั้งจากการกำกับหนังทางโทรทัศน์ High School Musical ในปี 2006 และมันกลายเป็นงานที่สร้างชื่อให้กับดิสนี่ย์ระดับปรากฎการณ์ จนมีการสร้างภาคต่ออีกสองภาค โดยภาคสุดท้าย High School Musical 3: Senior Year ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปี 2008 ได้รับทั้งเงินและกล่อง ในฐานะที่มันเป็นหนังวัยรุ่นที่ปลุกตลาดหนังเพลงของดิสนี่ย์ที่ไปได้ดีเฉพาะอนิเมชั่นให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง และทำให้เขาได้กำกับหนังสไตล์มิวสิคัลอีกหลายเรื่องรวมถึง Descendants(2015) หนังเพลงสไตล์แฟนตาซีที่จับลูกเหล่าร้ายจากการ์ตูนดิสนี่ย์มาเป็นตัวเอก และกลายเป็นกระแสโด่งดังจนสร้างออกมาถึงสามภาค จึงไม่แปลกเลยที่ผู้กำกับวัยเก๋าคนนี้จะได้รับการยกให้เป็นราชาแห่งหนังทวีน (หนังสำหรับวัยช่วงระหว่างเด็กจนถึงวัยรุ่น)

ปีที่ผ่านมาออร์เตก้าเซ็นสัญญาผลิตงานให้กับ Netflix สตรีมมิ่งรายใหญ่หลายปี และซีรี่ส์ Julie and The Phantoms เป็นผลงานเรื่องแรกของเขาผ่านการสร้างของ แดน ครอส และ เดวิด โฮก สองโปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดในการผลิตซีรี่ส์สำหรับวัยรุ่น ที่งานนี้ยังแสดงให้เห็นเอกลักษณ์เด่นๆ ในแนวมิวสิคัลของเขา รวมไปถึงการคัดนักแสดงหน้าใหม่ซึ่งแจ้งเกิดในเรื่องนี้อย่างเต็มตัว โดยไม่ต้องพึ่งดาราจากช่องดิสนี่ย์ ชาแนล

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 2

จูลี่ (เมดิสัน เรเยส) นักเรียนเอกดนตรี กำลังจมอยู่กับความทุกข์หลังสูญเสียแม่ไป จนไม่กล้าจะกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง แต่แล้ววันหนึ่งขณะจัดของในห้องแม่เพื่อเตรียมจะประกาศขายบ้าน ซีดีเดโมของวงร็อคไร้ชื่อวงหนึ่งที่ลองเปิดฟังก็ทำให้ผีสามตนที่ตายไปแล้วตั้งแต่ปี 1995 หรือเมื่อยี่สิบปีก่อนถูกปลุกวิญญาณขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาคือ ลุค , อเล็กซ์ และเรจจี้ อดีตสมาชิกวง Sunset Curve (ชาร์ลี กิลเลสพี, ) ที่เสียชีวิตกะทันหันก่อนจะได้ขึ้นคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ

แรกเริ่มเธอกลัว และคิดว่าเรื่องราวในชีวิตวุ่นวายอยู่แล้ว ทำให้ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือทั้งสามที่อยากจะกลับมาทำงานเพลงอีกครั้ง เมื่อพบว่าเมื่อไรที่เล่นดนตรีกับจูลี่ คนจะสามารถได้ยินเสียงดนตรีที่พวกเขาเล่นได้ แต่แล้วในวันหนึ่งการแสดงเพลงหลังงานกีฬาของเธอ สมาชิกทั้งสามคนที่ร่วมเล่นบนเวที และทุกคนเห็นพวกเขา ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง ทุกคนต่างเชื่อข้อแก้ตัวอย่างรีบร้อนว่านี่เป็นภาพจากโฮโลแกรม กลายเป็นต้นกำเนิดของวง Julie and The Phantoms ที่นักร้องนำเป็นคน และแบ็คอัพของเธอคือผี

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 3

ซีรี่ส์ความยาวทั้งหมด 9 ตอนนี้มีความยาวไม่มาก สามารถดูจบได้อย่างเพลิดเพลินด้วยเพลงใหม่ที่คัดสรรมาอย่างดีในแต่ละตอนรวม 15 เพลง มีทั้งเพลงแบบป๊อปร็อคยุค 90s แบบที่วง Sunset Curve เล่น รวมไปถึงเพลงสไตล์มิวสิคัล และเพลงเต้นรำที่ออร์เตก้าถนัด และแม้จะเป็นเพลงที่ดูเหมือนจะไม่เอื้อกับการออกแบบท่าเต้นนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างในฉากเพลงและบนเวทีถูกออกแบบมาอย่างดีให้แต่ละตอนไม่ซ้ำซากจำเจ

แม้จะเป็นงานที่ผลิตให้เน็ตฟลิกซ์ ในฐานะโปรดิวเซอร์ ที่กำกับซีรี่ส์นี้ถึง 5 ตอน ออร์เตก้ายังไม่ทิ้งกลิ่นอายหนังสำหรับช่องดิสนี่ย์ ชาแนล มีฉากเพลงแฟนตาซีจัดเต็มแทรกเข้ามา เพลงร็อคในเรื่องเองหากเทียบตามยุคสมัยจริงอย่างปี 1995 ก็ออกจะมีสำเนียงต่างออกไปนิดๆ เพราะยุคดังกล่าวเป็นยุคของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อค คู่พระนางไม่มีฉากรักหวือหวาเกินเลย แต่ละตอนเน้นความตลกเปิ่นๆ ของตัวละคร ที่หลายคนบุคลิกยังดูล้นๆ เหมือนหลุดมาจากหนังการ์ตูน แถมเขายังดึงเอา บูบู สจ๊วร์ต และ จาดาห์ มารี ที่เคยแสดงหนังชุด Descendants มารับบทสมทบอีกด้วย

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 4

หากอีกด้านงานชิ้นนี้ก็เป็นแนวก้าวข้ามพ้นวัยที่ลงตัว ทั้งประเด็นการรับมือกับความสูญเสียคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจูลี่ ที่เสียแม่หรือ ลุค มือกีต้าร์ และนักแต่งเพลงหลักของวงที่มีปมไม่ต่างกันนัก รวมทั้งสมาชิกของวงเองที่กลัวการสูญสลายไปตลอดกาล อีกทางหนึ่งพวกเขาก็สู้เพื่อฝันในการเป็นศิลปินดังท่ามกลางอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตท่ามกลางบรรยากาศแบบหนังตลกวัยรุ่น แต่ก็ชวนลุ้น และเอาใจช่วยพวกเขาที่หากเดินพลาดสักครั้ง ก็อาจปิดโอกาสการเป็นศิลปินดังที่วาดหวังไว้

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 5

จึงไม่แปลกบทเพลงที่คัดมาจึงล้วนว่าด้วยการให้กำลังใจ ยืนหยัดที่จะสู้ต่อ ซึ่งปลุกปลอบทั้งตัวผู้ร้องและเล่นดนตรี รวมถึงผู้ชมอีกด้วย แน่นอว่าใจความสำคัญคงเรื่องยังคงเป็นดังที่จูลี่พูดถึงลุคว่า “เขาได้ใช้ชีวิตโดยทำสิ่งที่เขาเกิดมาเพื่อทำ ไม่ใช่ทุกคนที่จะหามันเจอ แต่ลุคหาเจอค่ะ” แต่เชื่อว่าใครได้ฟังเพลงอย่าง Stand Tall ก็คงรู้สึกฮึกเหิมตามได้ไม่ยากเลย

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 6

เมดิสัน เรเยส นักแสดงหน้าใหม่เชื้อสายละตินอเมริกา แม้จะไม่ได้มีหน้าตาสะสวยโดดเด่นทันที แต่ด้วยความสามารถทางการแสดงบนเวที การร้องอันทรงพลัง การเต้น และแสดงดนตรีของเธอทำได้อย่างน่าประทับใจ ไม่น่าแปลกที่แม้เธอจะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ก็ผ่านการคัดเลือกจากนักแสดงที่ทดสอบบทกว่า 1,000 คน และยังถ่ายทอดอารมณ์ความรักที่มีต่อแม่ และเด็กหนุ่มวัยไล่เลี่ยกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ชาร์ลี กิลเลสพี (ซีรี่ส์ Charmed )นักแสดงหลักอีกคนที่รับบท ลุค ภายใต้บุคลิกหนุ่มร็อคมาดเท่ แต่ในฉากที่เขาถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจผ่านบทเพลง Unsaid Emily นับเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งของซีรี่ส์นี้ การแสดงของเขากับเรเยสนับเป็นเคมีที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ

รีวิว Julie and The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน 7

น่าเสียดายว่าด้่วยความยาวของซีรี่ส์ที่จบเพียง 9 ตอนทำให้มันจบโดยมีเรื่องทิ้งค้างคาเป็นปริศนาเต็มไปหมด และต้องมาลุ้นผลตอบรับกันว่าซีรี่ส์มิวสิคัลเรื่องนี้จะได้สร้างต่ออีกหรือไม่ !

รีวิว Julie And The Phantoms ซีรี่ส์ใหม่จากราชามิวสิคัลวัยทวีน

รีวิวซีรี่ส์ฝรั่ง

รีวิว It’s Okay To Not Be Okay

It’s Okay to Not Be Okay เรื่องหัวใจ ไม่ไหวอย่าฝืน ซีรีส์เกาหลี Netflix เรื่องของคนสองคนกับความรักในเชิงจิตวิทยาที่โรแมนติก เศร้า เหงา อบอุ่น และตลกไปพร้อมกัน

หมายเหตุ: รีวิวจากการรับชม 16 ตอน และอัพเดทต่อไปจนจบ ไม่มีสปอยล์เนื้อหาสำคัญ

ซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ของค่าย tvN ที่มาลง Netflix พร้อมกัน ออนแอร์ทุกสามทุ่มวันเสาร์-อาทิตย์ เรื่องราวของคนสองคนที่ผูกพันกันด้วยโชคชะตา แต่นิสัยใจคอของทั้งคู่แตกต่างกันมาก “มุนคังแท” (รับบทโดย คิมซูฮยอน) พระเอกของเรื่องเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนย้ายที่อยู่ที่ทำงานไปเรื่อยๆ กับพี่ชายที่เป็นออทิสติก “โกมุนยอง” (รับบทโดย ซอเยจี) นางเอกผู้เป็นนักเขียนนิยายเด็กที่มีชื่อเสียงในแนวดาร์ค และตัวเธอเองก็เป็นพวกต่อต้านสังคม มีความรุนแรงพร้อมระเบิดอารมณ์อยู่เสมอ แต่ทั้งคู่กลับตกหลุมรักกันด้วยความรู้สึกแปลกประหลาดของกันและกัน เรื่องราวความรักนี้จึงไม่ธรรมดาแน่นอน…

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 1

ต้องบอกว่ามีความแปลกของเนื้อเรื่องแบบที่คาดเดายากว่าจริงๆ จะดำเนินไปเช่นไรในแต่ละตอน เพราะนอกจากบุคลิกนิสัยตัวเอกทั้งคู่จะแปลกพิสดารกว่าทั่วไปแล้ว เรื่องยังนำเสนอหลายอย่างกึ่งๆ เหนือจริงผสมเข้าไปด้วย ทั้งในแบบแฟนตาซี ผี จินตนาการ เพ้อฝัน โดยที่เก็บงำความลับเนื้อเรื่องไว้ค่อนข้างมากตั้งแต่เปิดฉากมาเลย เรื่องให้ทั้งคู่มาเจอกันโดยบังเอิญ ก่อนจะตัดแฟลชแบ็คย้อนอดีตที่มีความหลังร่วมกัน โดยมีนิทานของนางเอกมาเป็นตัวคั่นบอกเล่าปริศนานี้ว่า มีเด็กถูกลบฝันร้ายในความจำออกไปจากการไปขอแม่มด  แต่แล้วกลับพบว่าการลบความจำนั้นไปไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก มนุษย์ควรจะจดจำบาดแผลในใจไว้อยู่ เพื่อเติบโตแข็งแกร่งขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีตที่เลวร้าย ซึ่งตัวนิทานของนางเอกจะมีบอกเล่าเพิ่มทุกตอน ทั้งเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ และนิทานที่มีอยู่แล้วอย่าง เจ้าหญิงนิทรา ราพันเซล เคราน้ำเงิน  และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในแต่ละตอน เป็นการบอกเล่าเฉลยอ้อมๆ ถึงปริศนาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำให้ตัวเรื่องมีความเพ้อฝันหลอนๆ ลี้ลับกึ่งแฟนตาซีอยู่ตลอดเวลา

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 2

นอกจากเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาตั้งแต่แรก สิ่งที่มาช่วยเน้นให้เรื่องนี้ไม่ธรรมดายิ่งขึ้นไปอีกก็คือ งานภาพที่งดงามวิจิตรพิสดารแปลกใหม่ตลอดเวลา ทั้งการใช้เงาสะท้อนกลับในมุมต่างๆ การถ่ายทำด้วยมุมกล้องหวือหวาแม้จะเป็นซีนตามทางทั่วไป การตัดต่อเชื่อมฉากหนึ่งไปอีกฉากแบบมีลูกเล่นไม่ธรรมดา การใช้ภาพแอนิเมชั่นลายเส้นจากนิยายของนางเอกที่เป็นแนวดาร์คแฟนตาซีหลอนๆ มาเล่าเรื่องแทนในบางครั้ง การใส่กรอบภาพพร้อมแสงสีฟุ้งนวลเหมือนจินตนาการเวลาแฟลชแบ็ค รวมถึงฉากแบบแฟนตาซีกับชุดสีเข้มลึกลับแนวโกธิคของนางเอกที่ตัดมาเป็นจินตนาการ แม้แต่การตัดภาพเล่าเรื่องเปลี่ยนนางเอกเป็นแนวสัตว์ประหลาดยักษ์เลยก็มี (แบบพวกหนังก็อดซิล่า) เรียกว่าเราสามารถมองข้ามเนื้อเรื่องไปแล้วสนุกกับการได้เห็นมุมมองวิชั่นด้านภาพที่สวยงามแปลกประลาดของเรื่องนี้ล้วนๆ เลยก็ยังได้ ซึ่งงานภาพแนวนี้ที่โดดเด่นเลยของฝรั่งต้นตำหรับก็มาจากผู้กำกับ ทิมเบอร์ตัน (ตัวอย่าง อลิซในแดนมหัศจรรย์เวอร์ชั่นล่าสุด) ที่หลายคนคงเคยดูมาบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้หลายส่วนก็มีความเหมือนแนวทางของทิมเบอร์ตันเป็นอย่างมาก แต่นี่คือเรื่องดีเพราะทำให้เห็นเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้ตั้งใจครีเอทรายละเอียดสร้างสรรค์กันทุกจุดจริงๆ

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 3

แม้ว่าทั้งตัวเรื่องและงานภาพจะโดดเด่นแปลกตามาก แต่เรื่องก็ไม่ได้ทิ้งแนวทางโรแมนติกของเกาหลีไป มีฉากขายฝันโรแมนติกของทั้งคู่ตลอดเวลาที่พบหน้ากันทุกครั้ง และก็ยังสอดคล้องไปกับความดาร์คที่เป็นธีมของเรื่องอยู่ มีฉากโรแมนติกจ้องหน้ามองตาใกล้ๆ แทบจะหายใจรดกัน ตัวภาพก็เลือกฟรีซนิ่งแช่ไว้แทบทุกครั้งที่มีฉากแบบนี้ให้คนดูได้อินฟินกันนานๆ ไปเลย

ถึงตัวเรื่องจะนำเสนอความดาร์คให้กับตัวละครทั้งคู่มีแบ็คกราวน์ชีวิตวัยเด็กที่เลวร้ายติดตัวจนมาถึงปัจจุบัน คนหนึ่งก็กลายเป็นพวกเร่ร่อนใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ผูกสัมพันธ์กับใคร อีกคนก็ต่อต้านสังคมสุดโต่งแบบไม่ไว้หน้าใคร แต่ว่าตัวเรื่องก็ไม่ได้ดูหดหู่อะไรมากนัก เพราะมีฉากตลกแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ ตลอดเรื่อง แม้กระทั่งช่วงที่เรื่องน่าจะดิ่งลง แต่กลับยิงมุกตลกร้ายซ้อนเข้าไปพร้อมกัน ทำให้เรื่องดูไม่หนัก มีอารมณ์ตลกตัดกันกับอารมณ์หน่วงๆ ที่เป็นเมนหลักของเรื่องได้ดี

คนเราหนีจากโชคชะตาตัวเองไม่ได้ ..แต่มันจะไปสำคัญอะไร ในเมื่อเรานี่แหละ คือโชคชะตา

3 ตัวละครหลักของเรื่อง

ตัวนักแสดงหลักของเรื่อง คิมซูฮยอน ที่รับบทพระเอกหนุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยทางจิตในโรงพยาบาล รวมถึงการเฝ้าดูแลพี่ชายของเขาแบบแทบจะเป็นชีวิตจิตใจเล่นได้ดีมาก แม้จะมีฉากพยายามขายซิกแพ็คโชว์เรือนร่าง แต่ว่าการแสดงของเขากับใบหน้าตามบทที่ถูกเรียกจากนางเอกว่า “งดงาม” ก็เหมาะสมกันดี ในบทนี้จะเป็นคนที่เก็บกดมีบาดแผลในใจหลายอย่าง แต่ว่าก็พยายามแสดงออกมาเป็นปกติ แต่ลึกๆ ไม่ปกติ เป็นตัวละครที่สะท้อนคนปกติที่มีปัญหาทางจิต แต่มักไม่รู้ว่าตัวเองเป็น และจากปมทางจิตจากบาดแผลในใจก็ทำให้เขามาเป็นผู้ดูแลคนป่วยทางจิต และมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยเหล่านี้เช่นกัน

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 4

นางเอกซอเยจีเป็นหน้าตาของเรื่องนี้ เธอสวยแบบสะกดผู้ชมไว้ได้ตลอดเวลาทุกฉาก แถมด้วยแฟชั่นการแต่งกายที่ฉูดฉาดตัดกับทุกอย่างในซีนนั้นๆ ทำให้เธอมีสีสันที่โดดออกมาจากทุกสิ่งทุกอย่างในฉากตลอดเวลา และในเรื่องการแสดงกับบทนางเอกแนวอารมณ์ร้ายกึ่งโรคจิตก็ทำได้ดีเลย แม้จะรู้สึกว่าบทพยายามให้ฉากร้ายๆ ของเธอดูสวยไปด้วยทุกครั้ง แต่ก็ทำให้ฉากเหล่านั้นดูมีอะไรมากกว่าแค่การให้นักแสดงใช้บทพูดและอารมณ์เล่าออกมาเพียงอย่างเดียว และก็มีความเป็นตลกร้ายจากความคิดบิดเบี้ยวฉีกกรอบศีลธรรมของนางเอกปนอยู่ด้วยเสมอ

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 5

นอกจากนี้ตัวละครหลักก็ไม่ได้มีแค่พระเอกนางเอก แต่เรื่องนี้พี่ชายออทิสติกของพระเอก “มุนซังแท” (รับบทโดย โอจองเซ) คือตัวละครหลักอีกคนที่แทบจะตัวติดกันกับพระเอกแทบทุกฉาก ด้วยบทถูกวางไว้เขามีห่วงดูแลพี่ชายตลอดเวลา แม้แต่อยู่ห่างไปก็ต้องโทรหาเสมอ ซึ่งอาการออทิสติกในเรื่องก็ถูกถ่ายทอดออกมาทั้งน่าสงสารและมีความน่ารักควบคู่กันไป บทพี่ชายของพระเอกจึงมีความสำคัญกับเรื่องมาก และก็มีส่วนสำคัญกับอดีตอันเป็นปริศนาเกี่ยวกับการตายของแม่ และผีเสื้อสีฟ้าที่ตามมาหลอนเขาเสมอ แถมยังเป็นแฟนนิยายตัวจริงของนางเอก เขาจึงเป็นตัวผูกเรื่องที่สำคัญมาก และก็เล่นได้อย่างโดดเด่นจนเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้เลยทีเดียว

It’s Okay to Not Be Okay เรื่องหัวใจ ไม่ไหวอย่าฝืน
It’s Okay to Not Be Okay เรื่องหัวใจ ไม่ไหวอย่าฝืน

บาดแผลในวัยเด็กคือความลับสำคัญของเรื่องนี้

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 6

ตัวเอกทั้ง 3 คนต่างมีฉากแฟลชแบ็คย้อนกลับไปยังสมัยเด็กเป็นระยะๆ โดยเรื่องเผยให้เห็นว่าทั้ง 3 คนต่างมีอดีตดำมืดในเมืองบ้านเกิดที่เดียวกัน โดยพระเอกคือการสูญเสียแม่ไปจากการถูกฆาตกรรมปริศนา (พ่อเสียไปก่อนนานแล้ว) พี่ชายที่เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียวกลับจดจำอะไรไม่ได้นอกจาก “ผีเสื้อ” และก็กลายเป็นความกลัวผีสื้อทุกอย่างที่ฝังใจมากจนถึงปัจจุบัน ทางด้านของนางเอกคือปมปริศนาของครอบครัวที่เธอต้องสูญเสียพ่อกับแม่ไปในแบบไม่ปกติ ซึ่งตัวเรื่องจะกุมความลับนี้ไว้แน่นหนา แม้จะรู้ว่าพ่อของเธอเกลียดชังเธอและปัจจุบันป่วยอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชที่พระเอกทำงานอยู่ แต่ก็ไม่รู้รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในปราสาทลึกกลางป่าที่เป็นบ้านของเธอในอดีต

นักแสดงเด็กเล่นสอดคล้องไปกับตอนโตได้อย่างสมบูรณ์แบบ

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 7

เรื่องนี้ใช้นักแสดงตอนเด็ก 3 คนหลักออกมาประจำควบคู่ไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 3 คนมีความเกี่ยวพันกันมาก่อนหลายอย่าง ซึ่งนิสัยตอนเด็กกับตอนโตแทบจะไม่ต่างกันมาก เด็กทั้ง 3 คนก็เล่นได้อย่างไร้ที่ติ โดยเฉพาะบทพี่ชายออทิสติกส์ของพระเอกที่มีความสำคัญกับเรื่องมาก นักแสดงตอนเด็กแทบจะเหมือนทั้งหน้าตาท่าทางกับ โอจองเซ นักแสดงตอนโตแบบไม่มีผิดพลาดเลยแม้แต่น้อยครับ

อาการทางจิตที่ต้องการคนมาเข้าใจและเยียวยา

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 8

เป็นเรื่องที่เห็นเด่นชัดเอามากๆ ในเรื่องนี้ว่าต้องการนำเสนอมุมมองลึกซึ้งของคนป่วยเป็นโรคจิตเภทในแบบต่าง อย่างนางเอกจะเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จากโรคลักขโมยสิ่งของ (kleptomania หรือ pathological stealing) เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้นที่จะลักขโมยได้ ซึ่งตอนแรกอาจจะดูแค่ว่าเธอนิสัยไม่ดี แต่พอเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ อาการทางจิตของเธอจะแสดงออกมาหลายแบบเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และการแสดงออกถึงความรู้สึกตรงๆ ในแบบผิดปกติจากคนทั่วไป  ซึ่งตัวพระเอกเองมองเห็นและรู้ว่าเธอจิตไม่ปกติ แต่ตัวเขาเองก็เก็บกดความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ไว้จนบางครั้งก็ระเบิดออกมา  และการเยียวยาของเขาคือการยอมรับความรู้สึกที่ลึกๆ มีให้นางเอกตั้งแต่เด็ก แต่เขาก็ปฏิเสธมันไปด้วยตัวเองจนทั้งคู่กลับมาเจอกันอีกครั้งในสภาวะจิตที่สะสมมาจนโตมาแบบไม่ปกติกันทั้งคู่ ซึ่งมันจะเป็นไปได้หรือกับความรักที่ต่างฝ่ายต่างไม่เหมือนคนปกติทั่วไปในสังคม นี่เป็นสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ตั้งคำถามไว้ และก็สอดคล้องไปกับชื่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 9

และไม่ใช่แค่ตัวละครหลัก แต่เรื่องนำเสนอตัวละครใหม่แทรกเข้ามาเป็นเคสที่เกิดในโรงพยาบาลที่พระเอกทำงานอยู่ ซึ่งดำเนินเรื่องแบบให้ความสำคัญแยกออกมาเลย อย่างในตอน 3-4  เป็นเรื่องของลูกชายของ สส. ดังที่ป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ (โรคอารมณ์สองขั้ว) ที่ปกติจะถูกนำเสนอด้านดิ่งซึมเศร้า แต่ในเรื่องนี้นำเสนอด้านอารมณ์ดีเกินผิดปกติ และใส่อาการทางจิตอื่นๆ แบบโรคชอบโชว์ร่างกายของลับให้คนอื่นดู แม้จะดูตลกๆ แต่ว่าพอถึงจุดพีคของเรื่องกลับเป็นความเศร้าขึ้นมาทันที ซึ่งตัวเรื่องตั้งใจพาคนดูดิ่งขึ้นลงเหมือนการเป็นไบโพลาร์ของเรื่องเลย และก็ทำได้ถึงเอามากๆ กับการนำเสนอที่ตัดขั้วตลกกับเศร้ากันทันทีแบบนี้ และเรื่องก็แฝงมุมมองแง่คิดหลายอย่างให้กับคนดูด้วยเช่นกัน

ต่างคนต่างเยียวยากันและกัน

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 10

ตัวละครหลักทั้ง 3 คนในเรื่องต่างมีปมบาดแผลหลายอย่างในอดีต และก็ส่งผลมาถึงปัจจุบันกันทุกคน ซึ่งเรื่องจะค่อยๆ ให้ทั้ง 3 ได้ค่อยๆ เข้ามาเกี่ยวพันใช้ชีวิตด้วยกัน ในกรณีของพี่ชายออทิสติกของพระเอกที่ถูกปกป้องโดยพระเอกมาตลอด ลึกๆ กลับต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเองในสิ่งที่เขารัก ซึ่งก็มาพบกับนางเอกที่เป็นนักเขียนนิทานเด็กที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และต้องการคนมาเข้าใจ ส่วนตัวพระเอกคือ อดีตที่พยายามลบลืมไป และความรู้สึกที่ต้องแบกภาระพี่ชายไว้ตั้งแต่เด็ก แม้เขาจะต้องเสแสร้งก็ตาม ทั้งสามคนนี้เมื่อได้มาเกี่ยวพันกัน ต่างคนต่างก็เยียวยากันและกัน เรื่องราวส่วนนี้ได้ละมุนมาก เรื่องค่อยๆ เผยปม เผยความรู้สึกลึกๆ ที่แท้จริงให้กัน ซึ่งทั้งน่าสงสาร เศร้า หดหู่ แต่ก็มีความอบอุ่นลึกซึ้งอยู่ในเนื้อหาลึกๆ ทุกตอน

ปัญหาครอบครัวออทิสติกส์

ในเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวของซังเทกับคังเท สองพี่น้องที่สลับบทบาทกันน้องชายต้องดูแลพี่ชายที่เป็นออทิสติกส์มาตั้งแต่เด็กเพราะแม่สั่งไว้ให้ดูแลพี่ชายไปตลอดชีวิต เป็นเหมือนภาระผูกพันกับเขาตลอดไปจนไม่อาจจะแบกรับชีวิตใครได้อีก ซึ่งปัญหาแบบนี้ไม่ใช่แค่สร้างมาในละคร แต่เกิดกับครอบครัวออทิสติกส์ทั้งโลก ที่พ่อแม่ก็ต้องดูแลลูกตลอดไป และพยายามฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด แต่พอมีลูกอีกคนที่ปกติก็มักจะฝากฝังให้ดูแลคนที่เป็นออทิสติกส์ไปตลอด อาจจะด้วยมุมมองว่าพี่น้องต้องดูแลกัน แต่มันกลับกลายเป็นความรู้สึกไม่เท่าเทียมและก็น้อยเนื้อต่ำใจในฐานะลูกที่พ่อแม่รักไม่เท่ากันได้ และก็มักจะทำให้เป็นคนเก็บกดความรู้สึกนี้ไว้จนระเบิดออกมาได้ ซึ่งตัวเรื่องก็หยิบมาเป็นปมในจิตใจของพระเอกที่ลึกๆ อยากหลุดจากภาระนี้ถึงขั้นเกลียดพี่ชาย แต่อีกใจก็ตัดความรู้สึกพี่น้องไม่ขาด เพราะรู้ว่านี่ก็ไม่ใช่ความผิดของพี่เลยแม้แต่น้อย ตัวเรื่องในจุดนี้จึงเป็นอะไรที่กระชากหัวใจคนดูอย่างมากทุกครั้งที่มีฉากขัดแย้งกันทางอารมณ์ของซังเทกับคังเทแบบรุนแรง แม้จะจบลงด้วยดี แต่ว่าก็เป็นเหมือนบาดแผลในใจที่สะสมไว้เรื่อยๆ

ใครสนใจดูเรื่องราวแบบเดียวกันแนะนำเรื่องนี้เลย Atypical เรื่องราวครอบครัวเด็กออทิสติกที่ผิดแปลกแตกต่าง ซีรีส์น้ำดีมาก อาจจะดูฟีลกู้ดใสๆ แต่ตัวเรื่องนำเสนอปัญหาในครอบครัวแบบนี้ไว้ครบถ้วนมากๆ ครับ

บทโรแมนติกละมุน อบอุ่น ผ่านปมปัญหาทางจิต ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

เรื่องนำเสนอความโรแมนติกในแบบที่ต่างออกไป ด้วยการให้ตัวละครในเรื่องมีปมติดล็อคในจิตใจ และจะปลดล็อคได้ก็ด้วยการช่วยเหลือจากคนอื่น อย่างตัวนางเอกที่มักอารมณ์ร้าย แต่ก็เป็นคนเข้าใจคนป่วยด้วยกันในมุมมองที่ต่างออกไป และให้เจอกับสิ่งที่ปวดร้าวในใจแบบตรงไปตรงมา แม้จะดูว่ารุนแรง แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับความจริง จนช่วยคลายล็อคในใจของผู้ป่วยได้ และสะท้อนกลับมาทำให้เธอปลดล็อคตัวเองได้เช่นกัน และยังส่งต่อความรู้สึกดีๆ ไปยังตัวพระเอก ทำให้เขามีมุมที่เปลี่ยนไปทั้งกับตัวเองและที่คิดกับเธอ ซึ่งฉากคลายล็อคพวกนี้ตัวเรื่องใส่มาทีละนิดๆ ค่อยเป็นค่อยไปในแบบพอดีๆ ดูละมุน อบอุ่น โดยไม่ต้องมีฉากจูบ ทำให้ตัวเรื่องโรแมนติกเดินหน้าไปเบาๆ แบบที่ควรจะเป็นตามบทความรักของผู้ป่วยทางจิตได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 11

เรื่องนี้มีส่วนแฟนตาซีหรือเรื่องเหนือธรรมชาติจริงหรือไม่?

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 12

น่าจะเป็นคำถามสำคัญที่หลายคนติดตามดูและอยากรู้ว่าตัวเรื่องจะมีอะไรแบบนี้เข้ามาจริงๆ หรือไม่ เพราะหลายอย่างจากสิ่งที่ปรากฎในเรื่องให้คนดูเห็นดูเหมือนจะทำให้คิดว่าต้องมี แต่ที่จริงตัวเรื่องต้องการนำเสนอในรูปแบบเดียวกับหนังดาร์คแฟนตาซี Pan’s Labyrinth (ชื่อไทย อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต) ที่เล่นเรื่องจินตนาการของเด็กหญิงที่ต้องการหลีกหนีจากความโหดร้ายของยุคสมัยสงคราม โดยคิดว่าตัวเองคือเจ้าหญิงที่ต้องมีภาระหน้าที่ในอีกโลกหนึ่ง และตัวเรื่องต้องการให้ผู้ชมคิดตามว่าสิ่งที่เห็นเป็นจริงหรือไม่ โดยไม่มีคำตอบตรงๆ ไว้ในเรื่องเลย (แต่มีใบ้ว่าจริงไม่จริง) ซึ่งนางเอกในเรื่องนี้ก็คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงในนิทานเช่นกัน โดยมีตัวร้ายเป็นแม่กับพ่อของเธอ เรื่องเหนือธรรมชาติที่เห็นในเรื่องนี้จึงเป็นอาการป่วยทางจิตของนางเอกเท่านั้น (เห็นภาพหลอน มโนเพ้อคิดไปเอง)

การบอกเล่าเรื่องจริงผ่านนิทาน (มีสปอยล์)

ตัวละครหลักมีอดีตอันเลวร้ายฝังอยู่ แต่เรื่องไม่ได้เล่าออกมาตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ซีรีส์เรื่องนี้กลับเลือกใช้การเล่านิทานเปรียบเหมือนการเล่าเหตุการณ์จริงในอดีตแบบอ้อมๆ ซึ่งนิทานที่หยิบมาเล่า โดยเฉพาะเรื่องของนางเอกดูเหมือนจะเลวร้ายเอามากๆ อย่างเรื่อง เคราน้ำเงิน ที่ตัวเรื่องในนิทานคือ สามีเคราน้ำเงินเป็นคนรวยมีอำนาจ แต่มีความผิดปกติในจิตใจ มักฆ่าเมียตายแล้วตัดหัวเก็บไว้ในห้องเก็บของ จนมาถึงคนล่าสุดที่เขาห้ามแล้วไม่ให้เธอลงไปทีห้อง แต่เมื่อเธออยากรู้อยากเห็นลงไป สุดท้ายก็เลยพบจุดจบแบบเดียวกัน ซึ่งในเรื่องจริงพ่อนางเอกเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แม่ตายแบบปริศนา ตัวนิทานเคราน้ำเงินที่ถูกเล่าออกมาโดยนางเอกเองก็เป็นเหมือนการเฉลยเรื่องนี้แบบอ้อมๆ นั่นเองครับ

มุมมองใหม่ผ่านนิทาน

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 13

ไม่ใช่แค่เรื่องจริงในอดีตของตัวละครถูกเล่าผ่านนิทาน แต่ตัวเรื่องยังใช้นิทานที่คุ้นเคยกันดีมานำเสนอมุมมองใหม่ตีความแตกต่างออกไปอย่าง บิวตี้แอนด์เดอะบีสต์ โฉมงามกับเจ้าชายอสูตรใน EP8 ก็เป็นมุมมมองของโกมุนยองที่เห็นว่า นางเอกในเรื่องถูกจับมาขังแล้วเป็นโรคทางจิต สต็อกโฮล์ม ซินโดรม (โรคจำเลยรัก) เป็นอาการของคนที่ตกเป็นเชลยหรือตัวประกันเกิดมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นคนร้ายหลังจากต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง หรือ อย่างพระราชาหูลา ที่ตอนจบถูกลงโทษเพราะรักษาความลับให้พระราชาไม่ได้ ก็เป็นมุมมองว่าถ้าอัดอั้นตันใจอะไรก็ควรจะนินทาคนอื่นลับหลังไปเลย ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แทนที่จะเก็บความลับไว้ทำให้ตัวเองลำบากใจ ซึ่งมุมมองเหล่านี้แม้จะดูร้ายๆ จากตัวนางเอกโกมุนยอง แต่ว่าก็เป็นเรื่องจริงอีกมุมที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน

ตัวละครสมทบที่เด่นมากเช่นกัน

แม้ว่าตัวพระเอกนางเอกจะเด่นมากในเรื่อง แต่ตัวเรื่องก็มีบทให้ตัวละครสมทบหลายคนโดดเด่น อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ บทผู้ช่วยประธานสำนักพิมพ์หนังสือของนางเอก ที่รับบทโดย Park Jin-Joo ที่นอกจากจะหน้าตาน่ารักมาก บทยังมีความกวนโอ้ยอยู่บ่อยๆ ลับหลังประธานที่ใส่การแสดงโอเวอร์แอ็กติ้งเข้ามาเยอะ ทำให้บทประธานสำนักพิมพ์นี้ก็เรียกเสียงฮาได้เรื่อยๆ เช่นกัน

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 14

นอกจากนี้แล้วตัวละครสมทบทุกตัวในเรื่องต่างก็มีมุมน่ารัก อบอุ่น มีเรื่องราวความรักของแต่ละคนแตกต่างออกไป ซึ่งเรื่องใส่แทรกมาเป็นระยะๆ แบบกำลังดีและสอดคล้องไปกับเรื่องราวหลักด้วยเช่นกัน จนบางทียังน่าติดตามกว่าคู่พระเอกนางเอกที่เน้นดราม่าเยอะมากด้วยครับ

รีวิว It’s Okay to Not Be Okay ซีรีส์จิตวิทยาที่โรแมนติก อบอุ่น ละมุน และงดงาม (อัพเดท 16 EP จบ) 15

ปมฝันร้ายในอดีตที่เป็นทั้งส่วนดีและจุดบอดของเรื่อง

ตั้งแต่ EP11 ไปตัวเรื่องจะเข้าสู่ช่วงของปมในอดีตที่เกี่ยวกับการตายของแม่พระเอกและแม่ของนางเอก รวมถึงฝันร้ายของพี่ชายพระเอกว่าเกิดอะไรกันขึ้นแน่ และปมนี้จะทำให้ทั้ง 3 คนมีปัญหากันหรือไม่ ซึ่งตัวเรื่องจะดูผิดแปลกไปจากช่วงที่ผ่านมาพอสมควร แม้ว่าตัวปมสำคัญตรงนี้จะเป็นจุดกำเนิดปัญหาทางจิตใจของตัวละครหลักทั้ง 3 คน และก็ทำได้น่าติดตาม แต่พอช่วงเฉลยกลับมีความไม่สมเหตุผลของเรื่องหลายอย่าง แถมจุดนี้ก็เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของช่วงก่อนจบ (เคลียร์ปมตอน EP14) โดยแค่แทรกมาสั้นๆ ก่อนจะกลับมาสู่ธีมเรื่องราวปกติ จึงทำให้ส่วนนี้ดูแปลกแยกไปจากเรื่องค่อนข้างมากไปจนเป็นจุดบอดเพียงอย่างเดียวของเรื่องนี้จริงๆ

สปอยล์+รีวิวปัญหาความไม่สมเหตุผล

แม่ของนางเอกฆ่าแม่ของพระเอก ก่อนที่จะถูกสามีฆ่าตามมาหลังรู้ว่าเธอไปฆ่าคนมา โดยที่โกมุนยองตอนเด็กเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด และเรื่องก็แสดงให้เห็นว่าแม่ของนางเอกตายจริงๆ จากโดนถ่วงน้ำ แต่กลายเป็นว่าเธอยังไม่ตาย และกลับมาสวมรอยเป็นหัวหน้าพยาบาล โดยที่ขาดคำอธิบายว่าเธอรอดมาได้ยังไง และตัวคนไข้ที่เธอหลอกใช้ก็ตัดบทหายไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งส่วนนี้ค่อนข้างไม่เคลียร์เอามากๆ แถมยังแทรกมาขัดโทนเรื่องปกติที่ลงตัวมาตลอดด้วย

ไทบ้านเดอะซีรีส์ x BNK48

ไทบ้านเดอะซีรีส์ x BNK48
โปรเจคร่วมกันระหว่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์ ภาพยนตร์ไทยอีสานสุดฮาที่สร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้ถล่มทลาย และ BNK48 วงไอดอลชื่อดัง เมื่อตัวแทน​จาก​ BNK48 ทั้ง​ 8​ คน​ ได้รับมอบหมายภารกิจลับ​ โดยต้องออกซิงเกิ้ลเพลงหมอลำ สาวๆ​ BNK48 ทั้ง​ 8​ คนจึงถูกส่งให้ไปเรียนรู้​ และใช้ชีวิตอยู่กับคนอีสาน​ เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรม​ และการสื่อสารผ่านเพลงหมอลำในแบบฉบับ​ BNK48 ให้ดีที่สุด